“ตัวเรือด”อยู่เคียงคู่มนุษย์มาตั้งแต่ยุคหิน มันมีวิวัฒนาการมาพร้อมๆ กับคนและ “นอน” บนเตียงเดียวกับเราคืนแล้วคืนเล่า คอยดูดเลือดยามนอนหลับแล้วหายลับไป ทิ้งไว้แต่เพียงอาการแพ้ที่อาจเป็นฝันร้ายของใครหลายคน เนื่องจากร่างกายมนุษย์คือ สิ่งดึงดูดตัวเรือดที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากร่างกาย ความร้อนโดยเฉพาะขณะห่มผ้าความร้อนจะสะสมได้ดี รวมถึงเวลาพลิกตัวไปมาระหว่างนอนหลับ ตัวเรือดจะตรวจจับความเคลื่อนไหวได้ด้วย และเมื่อมีตัวหนึ่งเจอเหยื่อ มันจะปล่อยฟีโรโมนชนิดหนึ่ง (Aggregation Pheromone) เรียกเพื่อนมากินพร้อมกัน ทำให้ผิวหนังที่ถูกกัดมีลักษณะเป็นผื่นเพราะถูกเรือดรุมกินโต๊ะนั่นเอง
และมันสามารถเป็นแหล่งอาศัยของไวรัสอันตรายอย่าง เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และเชื้อไวรัสเอชไอวี หากมันดูดเลือดคน น้ำลายของมันจะทำให้เกิดอาการแพ้ และอักเสบที่ผิวหนัง จากจุดเล็กๆ ก็จะกว้างขึ้นและยิ่งเกาก็ยิ่งใหญ่ขึ้น
ตัวเรือดในประเทศไทยพบมากในโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ โฮสเทล หรือที่พักที่มีคนหลายชาติผลัดเปลี่ยนเข้าพักอยู่เป็นประจำ มันคือตัวปัญหาที่บานปลาย จนเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการด้านที่พักต้องหันมาสนใจเจ้าแมลงล้านปีชนิดนี้
ด้าน นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญการกำจัดตัวเรือดในประเทศไทย กล่าวด้วยว่า “ตัวเรือดมักอยู่ในโรงแรมห้าดาว” โดยไม่เกี่ยวกับว่าโรงแรมนั้นจะสกปรกหรือสะอาด เพราะมันจะอาศัยอยู่ตามซอกหลืบ โดยพบในโรงแรมที่กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ กระบี่ และภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งสิ้น
จุดที่พบมากที่สุดในห้องพัก คือ เตียงและชั้นวางกระเป๋าเดินทาง รองลงมา คือ ตู้เสื้อผ้าและโซฟา และพบบ้างในห้องน้ำ และบนผ้าม่าน ซึ่งมีสิ่งบ่งชี้อยู่ 4 อย่าง ได้แก่ ตัวเรือด ทั้งที่มีชีวิตและรอยเลือดคนที่อาจพบ เพราะหลังจากที่มันดูดเลือดจนอิ่มแล้ว ขนาดตัวมันจะใหญ่ขึ้น เดินอุ้ยอ้าย และไม่สามารถกลับเข้าไปในหลืบเล็กๆ ได้อีก ซึ่งในขณะที่นอนหลับมีโอกาสที่คนจะไปนอนทับมันได้ รอยเปื้อนมูลดำของเรือด เป็นจุดเล็กๆ สีดำที่มันชอบทิ้งไว้ คราบของเรือดที่ลอก และไข่ของเรือดเป็นลักษณะวงรีสีขาวขนาดเล็กที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า
หากพบสิ่งบ่งชี้อย่างใดอย่างหนึ่งทางโรงแรมต้องจัดการกำจัดให้หมดสิ้น ห้ามแก้ปัญหาโดยการปิดห้องไม่ให้แขกเข้าพักแล้วหวังให้ตัวเรือดอดอาหารตาย ความจริงคือตัวเรือดสามารถอดอาหารได้ถึง 5 เดือน และมันสามารถเดินได้ไกล 6 ม. เพื่อออกมาหาอาหารแล้วกลับไปยังที่ซ่อนเดิม
0 comments:
Post a Comment